หลวงพ่อสด

"
ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งสูญหายไปเ
มื่อประมาณ พ.ศ. ๕๐๐ กลับคืนมาอีกครั้ง
หลวงปู่สดวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
ด้วยการสละชีวิตปฏิบัติธรรมถึง ๒ คราวจนเข้าถึงพระธรรมกาย และได้ศึกษาวิชชาธรรมกายจนเกิดความเชี่ยวชาญ...
ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งสูญหายไปเ
มื่อประมาณ พ.ศ. ๕๐๐ กลับคืนมาอีกครั้ง
หลวงปู่สดวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
ด้วยการสละชีวิตปฏิบัติธรรมถึง ๒ คราวจนเข้าถึงพระธรรมกาย และได้ศึกษาวิชชาธรรมกายจนเกิดความเชี่ยวชาญ แล้วได้มุ่งมั่น เผยแผ่พระพุทธศาสนาและวิชชาธรรมกาย จนตลอดชีวิตของท่านหลวงปู่วัดปากน้ำเป็นตัวอย่างของพระภิกษุผู้สมบูรณ์พร้อมทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาของพระภิกษุสามเณร เป็นพระนักปฏิบัติธรรม และเป็นพระนักพัฒนา พระมงคลเทพมุนี หลวงปู่วัดปากน้ำ คือ จอมทัพธรรม ผู้นำในการสร้างบารมีเพื่อไปสู่ที่สุดแห่งธรรมโดยท่านตั้งความปรารถนาจะค้นคว้าวิชชาธรรมกายไปให้ถึงที่สุด ให้สรรพสัตว์ทั้งหลายหลุดพ้นจากการเป็นบ่าว เป็นทาสของพญามาร เอาชนะให้ได้เด็ดขาด
๑. ประวัติก่อนบวช
ชาติกำเนิดและชีวิตวัยเยาว์
พระมงคลเทพมุนี ท่านมีนามเดิมว่า สด มีแก้วน้อย เกิดเมื่อวันศุกร์ ที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๗ ตรง
กับวันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก ณ หมู่บ้านเหนือ ฝั่งตรงข้ามวัดสองพี่น้อง ต.สองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เป็นบุตรของ นายเงิน มีแก้วน้อย และนางสุดใจ มีแก้วน้อย ท่านเรียนหนังสือกับพระน้าชายที่วัดสองพี่น้อง ต่อจากนั้นได้มาศึกษาต่อที่วัดบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม ได้ศึกษาหนังสือขอมจนสามารถอ่านหนังสือพระมาลัย ซึ่งเป็นภาษาขอมทั้งเล่มจนคล่อง หลังจากนั้นจึงได้ช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพค้าข้าว

เหตุที่ปฏิญาณตนบวชจนตาย
เมื่ออายุ ๑๔ ปี บิดาได้เสียชีวิตลง เนื่องจากตรากตรำในการค้าข้าว ท่านจึงต้องมารับช่วงคุมงานแทน จนกระทั่งอายุย่างเข้า ๑๙ ปี ระหว่างทำการค้าข้าวอยู่นั้น วันหนึ่งท่านนำเรือเปล่ากลับบ้าน พร้อมกับเงินที่ได้จากการค้าหลายพันบาท จำเป็นต้องผ่านมาทางคลองเล็กซึ่งเป็นคลองลัดชาวบ้านเรียกว่า “คลองบางอีแท่น” คลองนี้ไม่ยาวมากนักแต่เปลี่ยวและมีโจรผู้ร้ายชุกชุม ท่านซึ่งยืนถือท้ายเรืออยู่และเป็นจุดสำคัญที่โจรจะทำร้ายได้ก่อน ก็สับเปลี่ยนให้ลูกจ้างมาถือแทน ส่วนท่านหยิบปืนยาวไปถ่อเรือแทนลูกจ้างทางหัวเรือ พอเรือแล่นเข้าที่เปลี่ยวเข้าไปเรื่อยๆ พลันก็เกิดความคิดแว่บขึ้นมาว่า “คนพวกนี้ เราจ้างเขามาเพียง ๑๑ – ๑๒ บาท เท่านั้น ส่วนตัวเราเป็นทั้งเจ้าของทรัพย์และเจ้าของเรือ เมื่อมีภัยใกล้ตายกลับโยนไปให้ลูกจ้าง”
เมื่อคิดตำหนิตัวเองเช่นนี้ก็ไม่อยากเอาเปรียบลูกจ้าง ท่านจึงตัดสินใจกลับมาถือท้ายเรือตามเดิมยอมเสี่ยงรับอันตรายแต่ผู้เดียวเมื่อเรือพ้นคลองมาได้ ท่านก็มาพิจารณาเห็นว่า “การหาเงินเลี้ยงชีพนั้นลำบากบิดาของเราก็หามาอย่างนี้ต่างไม่มีเวลาว่างกันทั้งนั้น ถ้าใครไม่รีบหาให้มั่งมีก็เป็นคนชั้นต่ำ ไม่มีใครนับหน้าถือตา เข้าหมู่เพื่อนบ้านก็อับอายขายหน้าไม่เทียมหน้าเขา บุรพชนต้นสกุลก็ทำมาอย่างนี้เหมือนกันจนถึงบิดาเรา และตัวเราในบัดนี้ก็คงทำอยู่อย่างนี้เหมือนกัน ก็บัดนี้บุรพชนทั้งหลายได้ตายไปหมดแล้ว ตัวเราก็จักตายเหมือนกัน เราจะมัวแสวงหาทรัพย์อยู่ทำไม ตายแล้วเอาไปไม่ได้ บวชดีกว่า”ท่านจึงได้ตั้งสัจจะอธิษฐานว่า “ขอเราอย่าได้ตายเสียก่อนเลย ขอให้ได้บวชเสียก่อน เมื่อบวชแล้วจะไม่ลาสิกขา ขอบวชไปจนตลอดชีวิต” นี่เป็นคำอธิษฐานเหมือนกับท่านได้บวชมาแล้วตั้งแต่อายุ ๑๙ ปี เมื่อได้ตั้งใจแน่วแน่เด็ดเดี่ยวแล้วก็ขะมักเขม้นประกอบอาชีพหนักยิ่งขึ้น เพื่อสะสมทรัพย์ไว้ให้มารดาได้เลี้ยงชีพ เมื่อปราศจากท่านแล้วมารดาจะได้ไม่ลำบาก นับว่าท่านเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทียิ่งนัก
๒. อุปสมบท
ท่านได้อุปสมบทเมื่อ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๙ ขณะมีอายุย่างเข้า ๒๒ ปี ณ พัทธสีมาวัดสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรีมีฉายาว่า จนฺทสโร
พระอาจารย์ดี วัดประตูสาร อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์
พระครูวินยานุโยค (เหนี่ยง อินฺทโชโต) วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี
เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอาจารย์โหน่ง อินฺทสุวณฺโณ วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี
เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เมื่ออุปสมบทแล้วท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี อยู่ ๑ พรรษา หลังจากปวารณาพรรษาแล้ว ท่านได้ย้ายมาจำพรรษา ณ วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ขณะเรียนท่านมีความลำบากเรื่องบิณฑบาตเป็นอันมาก บางวันบิณฑบาตได้ไม่พอฉัน บางวันได้เพียงส้มผลเดียว บางวันไม่ได้เลย ท่านก็ไม่ฉันของพระรูปอื่น ซึ่งได้อาหารเพียงเล็กน้อย ท่านคิดว่า “อย่างน้อยที่สุดถ้าจะต้องตายเพราะไม่ได้ฉันอาหารก็จะเป็นเหตุให้พระทั้งเมืองมีฉัน เพราะว่าใครๆจะเล่าลือกันไปทั่วจนทำให้ชาวบ้านสงสารพระภิกษุ”
สร้างมหาทาน
มีอยู่วันหนึ่ง ท่านออกไปบิณฑบาตอยู่จนสายได้ข้าวเพียงหนึ่งทัพพีและกล้วยน้ำว้าหนึ่งผล กลับมาถึงกุฏิด้วยความเหนื่อยอ่อนเพราะไม่ได้ฉันมา ๒ วันแล้ว เมื่อเริ่มลงมือฉันได้คำหนึ่ง ท่านก็เหลือบไปเห็นสุนัขตัวหนึ่งผอมโซเพราะอดอาหารมาหลายวัน แม้กำลังหิวจัดก็ยังมีเมตตาสงสารสุนัขตัวนั้น จึงได้ปั้นข้าวที่เหลืออีกคำหนึ่งและแบ่งกล้วยน้ำว้าครึ่งผลให้แก่สุนัขผอมโซตัวนั้น สุนัขกินแต่ข้าวไม่กินกล้วย ท่านก็คิดว่า “ไม่รู้ว่าเจ้าไม่กิน” คิดจะเอากล้วยกลับมาแต่เห็นว่าไม่สมควรเพราะได้สละขาดไปแล้ว จะเอากลับมาฉันใหม่ในที่นั้นก็ไม่มีใครจะประเคนให้ด้วย เหตุการณ์นี้ทำให้ท่านตั้งจิตอธิษฐานว่า “ขึ้นชื่อว่าความอดอยากอย่างนี้ ขออย่าให้มีอีกเลย” หลังจากนั้นเป็นต้นมา ทุกครั้งที่ท่านไปบิณฑบาต ปรากฏว่าได้อาหารมามากมาย ท่านจึงได้แบ่งถวายพระภิกษุรูปอื่นด้วย
การศึกษาปริยัติธรรม
ท่านเริ่มเรียนบาลี โดยท่องสูตรก่อนเมื่อท่องจบสูตรเบื้องต้นแล้วเริ่มเรียน มูลกัจจายน์ (คัมภีร์ไวยากรณ์บาลี) ขึ้นไป จากนั้นเรียนนามสมาส ตัทธิต อาขยาต กิตก์ แล้วเริ่มเรียนคัมภีร์ ตั้งแต่ธรรมบท มงคลทีปนี และสารสังคหะ ตามความนิยมในสมัยนั้นจนชำนาญเข้าใจและสามารถสอนผู้อื่นได้ ขณะกำลังเรียนอยู่นั้นท่านต้องพบกับความลำบากมาก ต้องเดินทางไปศึกษากับอาจารย์ตามวัดต่างๆ เมื่อฉันแล้วข้ามฟากไปเรียนที่วัดอรุณราชวราราม กลับมาฉันเพลที่วัดพระเชตุพนฯ เพลแล้วไปเรียนต่อที่วัดมหาธาตุ ตอนเย็นไปเรียนที่วัดสุทัศน์ฯบ้าง วัดสามปลื้มบ้าง กลางคืนเรียนที่ วัดพระเชตุพนฯ แต่ไม่ได้ไปติดๆ กันทุกวันมีเว้นบ้างสลับกันไป
สมัยที่ท่านศึกษาอยู่นั้นใช้หนังสือขอมที่จารลงในใบลาน นักเรียนก็เรียนไม่เหมือนกัน บางองค์เรียนธรรมบทบั้นต้น บางองค์เรียนบั้นปลาย ยิ่งเรียนมากหนังสือที่เอาไปเรียนก็เพิ่มมากขึ้น พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำท่านพยายามไม่ขาดเรียน แบกหนังสือข้ามฟากลงท่าประตูนกยูงวัดพระเชตุพนฯ ไปขึ้นท่าวัดอรุณฯ เข้าศึกษาในสำนักวัดอรุณฯ ท่านเล่าให้ฟังว่าลำบากอยู่หลายปี ความเพียรของท่านทำให้คุณยายนวมชาวประตูนกยูง เกิดความเลื่อมใส ปวารณาทำปิ่นโตถวายทุกวันนับแต่นั้นมาความลำบากในเรื่องภัตตาหารของท่านก็หมดไป
ท่านเดินทางไปศึกษาในสำนักต่างๆ มาหลายปี ครั้นต่อมาข้าหลวงในวังกรมหมื่นมหินทโรดมเลื่อมใสในท่าน เวลาเพลช่วยจัดภัตตาหารมาถวายทุกวัน ทำให้พระเดชพระคุณหลวงปู่สามารถตั้งโรงเรียนขึ้นเองที่ วัดพระเชตุพนฯ โดยเริ่มเรียนธรรมบทก่อน ต่อมาการศึกษาบาลีเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม โดยทางคณะสงฆ์จัดหลักสูตรการศึกษา ให้เริ่มเรียนไวยากรณ์ก่อนเป็นลำดับไป
๓. การเข้าถึงวิชชาธรรมกาย
หลวงปู่วัดปากน้ำท่านรักการปฏิบัติธรรมมาก ในระหว่างที่ท่านศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่นั้น ท่านก็ยังคงปฏิบัติธรรมทุกวันตลอดมา วันไหนมีเวลา ท่านมักจะไปศึกษาวิปัสสนาธุระจาก พระอาจารย์ในสำนักต่างๆ อยู่เสมอ เช่น ท่านเจ้าคุณสังวรานุวงศ์เถร(เอี่ยม)วัดราชสิทธาราม ท่านเจ้าคุณพระมงคลทิพมุนี (มุ้ย)วัดจักรวรรดิฯ พระครูญาณวิรัติ (โป๊)วัดพระเชตุพนฯ พระอาจารย์ปลื้ม วัดเขาใหญ่ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี พระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำ ธนบุรี ท่านเล่าว่าเคยปฏิบัติธรรมตามแบบพระอาจารย์สิงห์ จนได้ดวงสว่างขนาดประมาณเท่าฟองไข่แดงของไก่ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย พระอาจารย์สิงห์จึงมอบหมายให้ท่านเป็นอาจารย์ช่วยสอนผู้อื่นต่อไป แต่ท่านไม่รับเพราะเห็นว่าตนเองยังมีความรู้น้อย จะไปสอนผู้อื่นได้อย่างไร
ในพรรษาที่ ๑๑ หลวงปู่วัดปากน้ำได้ไปจำพรรษาณวัดโบสถ์บนต.บางคูเวียงอ.บางกรวย จ.นนทบุรี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ท่านได้มีความคิดที่จะกระทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ตั้งแต่เช้าตรู่ “เราบวชมาจวนจะครบ ๑๒ พรรษาแล้ว วิชชาของพระพุทธเจ้าเรายังไม่ได้บรรลุเลย ทั้งที่การศึกษาของเราก็ไม่เคยขาดเลยสักวันทั้งคันถธุระและวิปัสนาธุระ อย่าเลย ควรจะรีบกระทำความเพียรให้รู้เห็นของจริงในพระพุทธศาสนาเสียทีี” เมื่อกลับจากบิณฑบาตแล้วท่านก็รีบจัดการภารกิจต่างๆให้เรียบร้อยเพื่อจะได้ไม่มีเรื่องกังวลใจ เสร็จแล้วก็ได้เข้าเจริญภาวนาในอุโบสถ โดยตั้งใจว่าหากไม่ได้ยินเสียงกลองเพลจะไม่ยอมลุกจากที่ เมื่อตั้งใจแล้วก็หลับตาภาวนา “สัมมา อะระหัง”เรื่อยไปจนกระทั่งความปวดเมื่อยและอาการกระสับกระส่ายเริ่มติดตามมา จิตก็ซัดส่ายกระวนกระวายจนเกือบจะหมดความอดทน แต่ได้ตั้งสัจจะไว้แล้วจึงทนนั่งต่อไป เมื่อไม่สนใจความปวดเมื่อยของสังขาร ในที่สุดใจก็ค่อยๆ สงบลงทีละน้อยแล้วรวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน เห็นเป็นดวงใสบริสุทธิ์ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ใจชุ่มชื่นเบิกบานอย่างบอกไม่ถูก
เย็นวันนั้นหลังจากได้ฟังพระปาฏิโมกข์กับเพื่อนสหธรรมิกแล้ว ท่านได้รีบทำภารกิจส่วนตัวสรงน้ำให้ร่างกายสดชื่นดีแล้ว จึงเข้าไปในอุโบสถแต่เพียงรูปเดียว เมื่อกราบพระประธานแล้วก็ได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า “ขอให้พระองค์ทรงพระเมตตาโปรดประทานธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้วแก่ข้าพระพุทธเจ้าแม้จะเป็นเพียงส่วนน้อยนิดก็ยินดี ถ้าหากการบรรลุธรรมของข้าพระองค์ฯจักเกิดโทษแก่พระศาสนาก็ขออย่าได้ทรงประทานเลย แต่ถ้าจะเป็นคุณแก่พระศาสนาแล้ว ขอได้โปรดประทานแก่ข้าพระองค์ฯด้วยเถิด ข้าพระพุทธเจ้าจะขอรับเป็นทนายพระศาสนาต่อไปจนตลอดชีวิต”
เมื่อได้ตั้งสัตยาธิษฐานแล้วท่านก็เริ่มนั่งหลับตา ขณะนั้นมีมดอยู่ในช่องแผ่นหินที่ท่านนั่ง กำลังไต่ขึ้นมารบกวนท่าน จึงหยิบขวดน้ำมันก๊าดขึ้นมา เพื่อจะทากันมด แต่แล้วก็คิดได้ว่า ชีวิตของเรา เราได้สละแล้วเพื่อการบำเพ็ญเพียร แต่เหตุไฉนจึงยังกลัวมดอยู่อีก จึงวางขวดน้ำมันก๊าดลง เจริญกัมมัฏฐานต่อไป จนถึงยามดึกจึงได้เริ่มเห็นดวงปฐมมรรคหรือดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ เมื่อได้รู้เห็นธรรมะแล้วท่านจึงได้เข้าใจว่า “พระธรรมนี้เป็นของลึกซึ้งยิ่งนัก ยากที่มนุษย์จะเข้าถึง การจะเข้าให้ถึงได้ต้องรู้ตรึก รู้นึก รู้คิด ต้องหยุดเป็นจุดเดียวกัน เมื่อหยุดแล้วจึงดับ เมื่อดับแล้วจึงเกิด ถ้าไม่ดับก็ไม่เกิดนี่เป็นของจริง ของจริงต้องอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนนี้เป็นไม่เห็นเด็ดขาด”
เมื่อมองเรื่อยไปก็เห็นดวงใหม่ผุดซ้อนขึ้นมาแทนที่ดวงเก่า แต่ใสสว่างมากยิ่งขึ้น จนในที่สุดก็เห็นกายต่างๆ ตามลำดับจนกระทั่งถึง ธรรมกาย
การเผยแผ่วิชชาธรรมกาย
เมื่อรับกฐินแล้วท่านได้ไปปฏิบัติศาสนกิจที่วัดประตูสารด้วยหวังว่าจะสนองพระคุณพระอุปัชฌาย์ของท่าน แต่พระอุปัชฌาย์ท่านมรณภาพไปแล้ว หลวงปู่จึงได้อยู่แสดงธรรมเทศนาโปรดญาติโยมที่นั่นเป็นเวลา ๔ เดือน จนมีผู้ศรัทธาท่านเป็นจำนวนมาก จากนั้นท่านก็ได้เดินทางกลับวัดพระเชตุพนฯ โดยได้พาพระภิกษุ ๔ รูปมาเรียนพระปริยัติด้วย
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น